ผู้สมัครงาน
หากจะพูดถึงเหตุสะเทือนใจที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน เหตุการณ์ "โป๊ะล่ม" เมื่อปี 2538 ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ว่าใครได้เห็นภาพแล้ว ก็ต้องรู้สึกสะเทือนใจ เนื่องจากภาพข่าวในตอนนั้น เห็นภาพเด็กนักเรียนหญิงหลายคนจมแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อเจ้าหน้าที่ช่วยนำร่างขึ้นมา ยังพบว่าร่างสะพายกระเป๋าใบโตอยู่ด้านหลัง
ทางเดินเทลงน้ำ หลังเกิดโป๊ะล่ม
เหตุการณ์เศร้าสลดครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 07.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.2538 เช้าวันพุธที่ทุกคนต้องไปทำงาน นักเรียนต้องไปเรียนหนังสือ หลายชีวิตมีเป้าหมายในการเดินทางที่แตกต่างกัน แต่มารวมตัวกันที่ท่าเทียบเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าน้ำพรานนก ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. ขณะที่คนจำนวนมากเสียเงินค่าโดยสารก้าวลงสะพานทางเชื่อมต่อกับโป๊ะเทียบเรือท่าน้ำขนาดกว้างประมาณ 5 คูณ 10 เมตร ซึ่งเป็นโป๊ะที่ใช้แท็งก์ขนาดใหญ่ทำเป็นทุ่นลอยน้ำ โดยมีแผ่นเหล็กเป็นพื้นรองรับ ซึ่งตัวโป๊ะต่อเชื่อมกับสะพานทางลงขนาด 3 เมตร กว้าง 1 เมตร โดยมีล้อเลื่อนอัดอยู่ที่ปลายทั้งสองฟาก เพื่อให้โป๊ะลอยขึ้นลงได้ และตัวโป๊ะผูกกับเสาท่อนกลม 2 ท่อน เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 30 ซม.
เจ้าหน้าที่ปูพรมค้นหา แต่ต้องระมัดระวังไฟรั่วด้วย
โป๊ะล่มกว่า 100 ชีวิต ดิ่งบาดาลเจ้าพระยา
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อผู้โดยสารเฮโล ลงไปยังโป๊ะกว่าร้อยคน เพื่อแย่งขึ้นเรือโดยสารที่กำลังจะจอดเทียบโป๊ะ น้ำหนักคนที่เพิ่มมากเกินพิกัด ได้ค่อยๆ จมดิ่งไปทีละนิด ประกอบกับโป๊ะเป็นแท็งก์น้ำผ่าครึ่งกลวง 4 แท็งก์หงายขึ้น น้ำยิ่งทะลัก เสียงกรีดร้องเพราะขวัญผวาพยายามออกจากตัวโป๊ะ ยิ่งทำให้น้ำไหลเข้าเร็วขึ้น กระทั่งโป๊ะวูบลงสู่ใต้ผิวน้ำ โดยใช้เวลาเพียง 1 นาที จากนั้น ชายนับสิบคนได้พุ่งพรวดมาจากผิวน้ำ เพราะว่ายน้ำเป็น คนบนฝั่งก็เข้าช่วยเหลือ บางคนที่รอดตายก็ตัวสั่นขวัญผวา งุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จากนั้นประมาณ 10 นาที กู้ภัยฯ ก็มาถึง แล้วช่วยเหลืออีกนับสิบชีวิตขึ้นมาได้ แต่แล้วก็ต้องเจออุปสรรคใหญ่ เมื่อนักประดาน้ำ ถูกไฟฟ้าจากที่เดินสายจากสายไฟมายังหลังคาโป๊ะช็อต ในรอบรัศมี 500 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องส่งสัญญาณเพื่อกันไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง
เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชม. ทหารเรือ ตำรวจน้ำ และกู้ภัยฯ จากหลายมูลนิธิ ได้งมร่างของหญิง 3 ราย และชาย 1 ราย จากใต้โป๊ะ ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า บริเวณดังกล่าวจะมีผู้ติดอยู่จำนวนมาก แม้สภาพที่เจ้าหน้าที่นำขึ้นมา ที่ซีดเซียวแทบหมดหวัง แต่เจ้าหน้าที่พยาบาลก็ไม่ปล่อยโอกาสเพียงเสี้ยววินาที พยายามปฐมพยาบาล ทั้งนวดเฟ้น บีบกล้ามเนื้อ ปั๊มหัวใจ เมื่อเห็นว่าสติยังไม่ฟื้น ก็รีบนำร่างส่งโรงพยาบาล
ระดมเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานช่วยเหลือ
สุดเศร้า เสียชีวิตคาชุด นร. นำขึ้นศพแล้วศพเล่า
กระทั่งเวลา 09.00 น. วันอันโหดร้ายกับโศกนาฏกรรมค่อยๆ เดินไป เจ้าหน้าที่สามารถงมร่างผู้เคราะห์ร้ายได้ทั้งหมด 12 ศพ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเด็กหญิงในสภาพที่ยังสะพายกระเป๋าหนังสือ ที่กลับกลายเป็นเครื่องถ่วงที่ทำให้หนูน้อยเหล่านั้นจมน้ำเร็วขึ้น
เวลาผ่านไป ญาติพี่น้องของผู้เคราะห์ร้ายได้มารวมตัวกันที่จุดเกิดเหตุ บางคนก็ไปที่ รพ.ศิริราช โดยมารอดูที่ห้องฉุกเฉิน และห้องเก็บศพ ซึ่งมีหญิงรายหนึ่ง ในวัย 50 ปี ต้องหัวใจสลาย เพราะลูกสาววัย 9 และ 12 ปี เสียชีวิตทั้งสองคน ขณะที่เด็กหญิงอีกราย วัย 13 ปี ที่รอดชีวิตมาได้ เผยนาทีเกิดเหตุว่า แม่ น้องชายและน้องสาว ถูกน้ำกลืน ซึ่งขณะเกิดเหตุได้หันบอกกับแม่ว่า "น่ากลัวมาก" ยังไม่ทันขาดคำ โป๊ะก็จมวูบ จากนั้นได้มีผู้ประสบเหตุได้ช่วยเธอขึ้นมา เมื่อขึ้นมาได้ ก็พยายามถามหา "เห็นแม่กับน้องหนูหรือเปล่า" โดยยังไม่ทราบว่าแม่และน้องทั้งสองคน เสียชีวิตแล้ว
หลังคาท่าพรานนก จมน้ำเห็นเพียงป้าย
ในวันนั้น เจ้าหน้าที่สามารถงมร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้ 20 ศพ ซึ่งก็สามารถงมหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งสรุปว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุครั้งนี้ 30 ราย ซึ่งหลังเกิดเหตุ สื่อต่างประเทศได้รายงานโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้มาจาก "การจราจรที่ติดขัด"
หลังเกิดเหตุ ทางตำรวจได้ตั้งชุดเฉพาะกิจ และมีการสอบสวนหาผู้กระทำผิด นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกว่าเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้งเต็มที และมีปัญหามาตลอด ถึงเวลาแล้วที่ต้องถามว่ามีการแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างไรตั้งแต่ต้น
นายชวน กล่าวในขณะที่ยังไม่ทราบว่า "ใคร" เป็นเจ้าของสัมปทานโป๊ะดังกล่าว กระทั่งพบว่าเจ้าของสัมปทานโป๊ะแห่งนี้ คือ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด มีนางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ เป็นเจ้าของสัมปทาน
นักประดาน้ำ ลงช่วย หวังให้มีผู้รอดชีวิต
วันที่ 5 ก.ค. 2538 นายจำนง เฉลิมวัตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ลงนามอนุมัติให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับผู้ต้องหาคดีโป๊ะล่ม 5 คน ประกอบด้วย 1. นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการบริษัท สุภัทรา จำกัด ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งในแง่บุคคลและนิติบุคคล 2. นายณรงค์ อินทรเทพ เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า 3. นางกรุณา เทพกลาง เจ้าหน้าที่บริษัทสุภัทรา จำจัด 4. นางพัชรา พันแสง เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และ 5. นายชัชวาลย์ ทวีศรี หัวหน้าฝ่ายการเดินเรือระดับ 7 กรมเจ้าท่า โดยตั้งข้อหากระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
2 ปีผ่านไป วันที่ 28 ก.พ. 2540 นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องบริษัท สุภัทรา จำกัด จำเลยที่ 1, นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม กรรมการผู้จัดการบริษัท สุภัทรา จำกัด จำเลยที่ 2, นางกรุณา หรือละเอียด เทพกลาง จำเลยที่ 3, นายชัชวาลย์ ทวีศรี หัวหน้าฝ่ายตรวจการเดินเรือ กรมเจ้าท่า จำเลยที่ 4 นายณรงค์ อินทรเทศ ฝ่ายตรวจการเดินเรือ เป็นจำเลยที่ 5 และนางพัชรา พันแสง เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 6 ในข้อหาร่วมกันทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย วันที่ 22 เม.ย. 2540 พนักงานอัยการกองคดีอาญายื่นฟ้องต่อศาลอาญาธนบุรี
ญาติมายืนรออย่างมีความหวัง
29 ธ.ค. 2541 ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-3 มีความผิดตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล คงลงโทษปรับสถานเดียวเป็นเงิน 20,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 1 ปี ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 4-5-6 เนื่องจากไม่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยที่ท่าเทียบเรือที่เกิดเหตุ
จากนั้น วันที่ 29 ต.ค. 2547 ศาลแพ่งพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ปกครอง สามี ภรรยา ของผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บเป็นเงินรวม 14,313,888 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันยื่นฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้กับโจทก์ผู้เสียหาย โดยออกคำสั่งบังคับให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติภายใน 30 วัน นับจากวันพิพากษา
กระทั่ง 18 ก.พ.58 รวมระยะเวลาเกือบ 20 ปี ศาลแพ่ง ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีที่เหยื่อโป๊ะล่ม ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท สุภัทรา จำกัด บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร และกรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 1-4 เรียกค่าเสียหายกรณีละเมิด จากอุบัติเหตุโป๊ะล่มบริเวณท่าเรือพรานนก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2538 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่คดีดังกล่าว ทางบริษัทสุภัทรา และบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ได้ชดใช้ให้กับผู้เสียหายเป็นเงินจำนวนหนึ่งจนมีการถอนฟ้อง เหลือเพียงกรุงเทพมหานคร ที่ต่อสู้คดีมาจนถึงชั้นศาลฎีกา
ศาลพิพากษา สรุปว่า กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลท่าเรือให้เกิดความปลอดภัย แต่ประมาทเลินเล่อไม่ดูแล จนเกิดอุบัติเหตุมีประชาชนบาดเจ็บล้มตาย จึงได้มีคำสั่งให้ กรุงเทพมหานคร ชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายจำนวน 12 ราย มากน้อยกันไปตามลำดับความหนักเบา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,616,241 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องเมื่อปี 2539
ผู้เสียชีวิตถูกนำร่างขึ้นมา
ซึ่งหลังฟังคำพิพากษา ญาติของผู้เสียชีวิตที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง รวมทั้งนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งขณะนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว ได้ร้องไห้กอดกันกลมด้วยความดีใจ หลังจากร่วมต่อสู้คดีกันมาเกือบ 20 ปี.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved